แม้กฎหมายจะบอกให้ธุรกิจต้องรับคนพิการทำงานในอัตราส่วน
100 ต่อ 1 ในทางปฏิบัติกลับสวนทาง
ไม่ใช่เรื่องของความใจจืดใจดำหรือคนพิการไร้ศักยภาพ แต่คือความไม่รู้จักและไม่เข้าใจระหว่างสองฝ่าย
ชายพิการรุนแรงคนหนึ่งมองเห็นช่องว่างตรงนี้และเดินหน้าถมมันด้วยแนวคิดเชิงกระบวนการ
สร้างนวัตกรรม แปรรูปเป็นธุรกิจเพื่อสังคมที่ไม่เพียงสร้างกำไร ทว่า
เขามองไกลกว่านั้น มันคือการถากถางที่อยู่ที่ยืนให้แก่คนพิการในสังคมแบบยั่งยืน
เพื่อทำให้คนพิการและคนไม่พิการได้รู้จักกัน ได้รู้ว่าเราต่างอยู่บนโลกใบเดียวกัน
เราสามารถพบเห็นคนพิการได้ทั่วไป
แต่กล้าได้หรือไม่ว่าเราเข้าใจและรับรู้ถึงศักยภาพในตัวพวกเขา
การที่มีไม่เท่าคนอื่นในเชิงกายภาพผลักไสให้คนพิการส่วนใหญ่ต้องยืนอยู่บริเวณชายขอบของสังคม
ถ้าโชคร้ายกว่านั้นก็ตกขอบไปเลย
เพราะความไม่เข้าใจ ความไม่รู้จัก สังคมจึงไม่ตระหนักว่า
คนพิการมีศักยภาพไม่ด้อยไปกว่าคนไม่พิการเลย
เพียงแต่มีโอกาสให้พวกเขาได้รับการพัฒนาศักยภาพและสังคมมองเห็นศักยภาพดังกล่าว
ปรีดา ลิ้มนนทกุล หนึ่งในผู้ได้รับรางวัลอโชก้าปีนี้
รางวัลที่มอบให้แก่ผู้สร้างนวัตกรรมทางสังคม เขาเป็นคนพิการรุนแรงคนหนึ่ง
ด้วยแรงผลักดันทั้งจากภายในและภายนอก
ทำให้เขาก้าวข้ามความพิการได้อย่างรวดเร็วจนไม่น่าเชื่อ
และก้าวเข้ามาถมช่องว่างระหว่างคนพิการและผู้ประกอบการธุรกิจ ให้คนสองกลุ่มนี้พบกัน
ด้วยแนวคิดแบบผู้ประกอบการทางสังคม ที่ไม่ใช่แค่ธุรกิจที่มีมูลค่าตลาดใหญ่ถึง 3
พันกว่าล้าน
แต่ในระยะยาวมันคือการถากถางที่อยู่ที่ยืนของคนพิการในสังคม
TCIJ: อยากถามประสบการณ์หลังจากรู้ว่าต้องเป็นผู้ทุพพลภาพถาวร
ห้วงอารมณ์ขณะนั้นของคุณเป็นอย่างไรบ้าง
ปรีดา: ผมรู้หลังจากที่ผมเป็นแล้ว แต่ผมเป็นคนที่ค่อนข้างเตรียมตัว
ทันทีที่ผมรู้ปุ๊บ ผมอยู่กับตัวเองหนึ่งคืน ไม่ได้คิดอะไรมาก
แค่เริ่มทบทวนสิ่งที่ตัวเองเป็นว่าทำไมเราจึงมาเป็นแบบนี้
มีคำถามคุยกับตัวเองในสมองเยอะมาก หนึ่งคืนนั้นจึงมีค่ามาก ต้องเล่าว่า
ผมเป็นคนที่โตมาแบบไม่ค่อยได้คุยกับแม่ ผมจำได้ว่าผมเคยเป็นหัดเยอรมัน
คันไปทั้งตัวเลย แม่ก็รู้ แม่ก็กอด แล้วรู้สึกดีมาก
แต่เราเป็นผู้ชายที่ไม่ค่อยได้เรียกร้องเรื่องพวกนี้ เป็นบ้านที่ไม่ค่อยกอดกัน
โตขึ้นมาตอนนี้แล้วอยากกอดมาก แต่ก็ไม่ได้กอด คืนนั้นผมขอให้แม่กอด ช่วยได้มาก
แล้วพอผ่านคืนนั้นไปก็ไม่มีอะไรแล้ว วันรุ่งขึ้นก็บอกที่บ้านเลยว่าจะตั้งบริษัท
เพราะมันคิดจนจบแล้วว่าไม่มีใครจ้างเราแน่ๆ ไม่มีงานทำแน่ๆ ไม่มีรายได้แน่ๆ
แล้วจะยังไงต่อ
TCIJ: กระบวนการภายในที่พาคุณก้าวข้ามจากคนไม่พิการไปสู่ความเป็นคนพิการ
มันง่ายดายขนาดนั้น
ปรีดา: ต้องเตรียมตัว ยกตัวอย่างลูกเสือแล้วกัน ผมจำได้ไม่ลืมเลย
ผมมีคัตเตอร์อยู่ในกระเป๋าลูกเสือตอนอยู่ ป.6 เพื่อนก็ถามว่าทำไมเอาเศษแก้วมาตัดเชือกตอนทำค่ายลูกเสือ
ผมก็บอกว่ามีดมันตัดง่ายเกินไป ถ้าในสถานการณ์จริงไม่มีมีดแล้วเราจะใช้อะไร
ผมก็หาเศษแก้วมาตัด
ผมเป็นคนที่เวลาทำโจทย์คณิตศาสตร์ก็ไม่ได้ทำทางเดียว
จะทำหลายทาง แล้วถ้าเรามีอะไรอยู่ในมือแล้ว เราต้องมีทางเลือกอื่นหรือเปล่า
ถ้าเราต้องเจอสถานการณ์นั้น เราจะทำได้หรือไม่ ก็คิดเสียก่อนจะมีมีดอยู่ในมือ
เพราะฉะนั้นกระบวนการคิดนี้ มันก็เหมือนเราเป็นคนชอบทางเลือกอยู่แล้ว
ถ้าเราต้องพิการก็น่าจะมีทางเลือกอื่นในชีวิต คืนนั้นก็คุยกับตัวเองเยอะนิดหนึ่ง
แล้วเลือกทางเดินของตัวเองใหม่
TCIJ: คุณพูดเหมือนคิดมาก่อนว่าสักวันจะต้องเป็นคนพิการ
ปรีดา: ไม่ได้คิดว่าพิการ เพียงแต่ว่าใช้ชีวิตแบบมีทางเลือกอยู่แล้ว
จะไม่กลับบ้านทางเดิม จะต้องกลับให้ครบทุกทาง ถนนเส้นนั้น ถนนเส้นนี้
ทั้งขึ้นและไม่ขึ้นทางด่วน จะไปหาลูกค้าเส้นไหนได้บ้าง คือเป็นคนชอบหาทางเลือก
ไม่มีใครกล้าบอกผมว่าผมเป็นคนทุพพลภาพถาวร ยกเว้นเจ้านายผม
เจ้านายผมอาสามาบอกผมเอง แล้วเขาเชื่อว่าถ้าบอกผมแล้ว ผมจะไม่เป็นอะไร
แล้วคนที่มาพูดคุยกับผมคือจิตแพทย์ พอผมมีคำถามที่ถามถึงอนาคต ผมจะอยู่อย่างไรครับ
ผมจะมีความเสี่ยงต่อโรคแทรกซ้อนอะไรบ้าง ร่างกายจะฟื้นคืนได้แค่ไหน
มีอะไรที่ผมจะต้องให้ความสำคัญ ทุกคำถามเป็นคำถามที่เราผ่านตัวเองมาแล้ว
คุณหมอก็เขียนเลยว่าผมไม่ต้องรับการบำบัดจิตใดๆ ทั้งสิ้น
เพราะไม่ได้มีข้อกังวลใจเรื่องนี้
TCIJ: บริษัทที่คุณตั้งขึ้นทำธุรกิจอะไร
ปรีดา: ห้าปีแรกผมไม่ได้ทำเรื่องเกี่ยวกับคนพิการ
ผมเป็นคนพิการมา 18 ปี ต้องแบ่งชีวิตผมเป็นสองช่วงคือช่วงห้าปีแรกกับแปดปีหลัง
ห้าปีแรกผมทำธุรกิจปกติ รับติดตั้งสถานีรับส่งสัญญามือถือ
ซึ่งใช้ความรู้ที่เรียนมาเลย ผมจบฟิสิกส์ เรียนวิชาโทไฟฟ้าและอุตสาหการ
ก็เอาความรู้มาทำงานตรงนี้ แต่ก่อนหน้านั้นผมมีความรู้เรื่องวิศวะและการขาย
เท่ากับผมมีความรู้ด้านการขายด้วย
เราก็เอาตรงนั้นมาผนวกกับสิ่งที่เรามีความรู้อยู่เดิม แล้วเลือกธุรกิจที่เป็นแมส
ตอนนั้นบริษัทมือถือเพิ่งจะเกิด ต่างฝ่ายต่างก็แข่งกันขึ้นสถานีเครือข่าย
เราเอาตัวกระโดดลงไปในถังข้าวสารและทำตัวให้ดี พอเราทำงานดี มีคุณภาพ
มันก็มีลูกค้าต่อเนื่อง
พอดีมานด์มันแย่ลงและธุรกิจล้ม
เพราะบริหารงานผิดพลาดบวกกับหลายๆ ปัจจัย เราก็มาคิดต่อว่าอะไรที่จะไปต่อได้
ก็มีแต่ด้านไอทีอย่างเดียว เลยอยู่ตรงนั้นคุยกับตัวเองอีกแปดเดือน
เพราะเราไม่มีทุน ไม่มีคนแล้ว ไม่มีทรัพยากรอะไรเลย มีตัวเราคนเดียว
ไอทีจึงเป็นเรื่องเดียวที่เราพอจะฟื้นขึ้นมาได้
ก็เสียเวลาไปกับการปูพื้นฐานตัวเองไปประมาณหนึ่งปี
แต่หลังจากที่รู้แล้วว่าจะทำอะไร ผมก็เขียนแผนสิบปีขึ้นมา
ตอนนี้อยู่ในปีที่แปด อีกสองปีความฝันจะเป็นจริง
ตอนนี้กำลังทำตรงนี้ให้สำเร็จอยู่
แต่พอหลังจากเขียนแผนสิบปีผ่านไปสามปีก็มีคนชวนไปทำงานด้านพัฒนาอาชีพคนพิการ
ก็เลยเอาความรู้ด้านไอทีจับใส่เข้าไปทำให้มีชื่อเสียงด้านเทเลเซลล์
(การขายผ่านโทรศัพท์) โดยให้คนพิการทำเทเลเซลล์ที่บ้าน
เพราะเจ้าของงานซึ่งก็คือฮัทชิสันยังมองแบบเดิมคือเอาคนพิการมารวมกันในสถานที่ที่หนึ่ง
แล้วให้ทุกคนทำงานแบบแมนวล
แต่ผมไม่ได้มองแบบนั้น ผมมองว่าเราต้องทำงานแบบออนไลน์
ก็เลยคิดซอฟแวร์ขึ้นมาโดยดีไซน์จากที่ว่าคนพิการต้องสามารถใช้ได้
คือเอาความพิการของตนเป็นที่ตั้ง ผมเป็นนักวิเคราะห์ความต้องการ Requirement
Analysis โดยวิเคราะห์ความต้องการของฮัทชิสันที่มีความต้องการให้คนพิการทำงานเทเลเซลล์
โดยมีเป้าหมายว่าภายในสามเดือนต้องได้สามหมื่นแอคเคาท์ ซึ่งถ้าทำแบบแมนวลนะ
สามเดือนไม่มีทางได้ถึงห้าพัน แล้วจะทำยังไงให้มันได้
ก็ต้องจับไอทีเข้ามาเกี่ยวด้วย แล้วจะทำยังไงให้คนพิการรุนแรงสามารถทำงานได้ด้วย
มันก็ต้องดีไซน์การใช้งานแบบที่ใช้ได้ทั่วไป คือไม่ต้องคีย์อะไรเลย
แค่คลิกก็จบแล้ว อยู่ที่ไหนก็ทำงานได้ และส่งต่อให้นักวิเคราะห์ระบบ System
Analysis เอาไปทำเป็นซอฟต์แวร์ แล้วเวลาเราเขียนซอฟต์แวร์
แม้แต่ไดอัล โมเด็ม ที่ไม่ใช่ไฮสปีดก็ต้องทำงานได้ด้วย
แต่มันก็ทำให้งานด้านไอทีที่ผมทำอยู่ตอนนั้นดีเลย์
เพราะงานด้านคนพิการมันหนักมาก
แล้วก็ค้นพบว่านี่เป็นพรหมลิขิตที่ทำให้ผมต้องเป็นคนพิการ
เพราะมันทำให้ต้องเอาต้นทุน ทรัพยากรทุกอย่างที่ผมมีอยู่มาช่วยคนพิการ
โดยอยู่บนพื้นฐานที่ผมรู้ว่าคนพิการรุนแรงเป็นอย่างไร ที่ผมเป็นอยู่คือคนพิการรุนแรง
ไม่ใช่พิการปกติ รุนแรงหมายความว่าตั้งแต่หน้าอกถึงปลายเท้าผมไม่รู้สึกเลย
ใช้นิ้วไม่ได้ แต่ที่ผมพอเคลื่อนไหวได้เพราะผมดูแลตัวเองตั้งแต่แรกๆ
จนทุกวันนี้ก็ยังทำกายภาพบำบัดอยู่ตลอด
TCIJ: ช่วยเล่ากระบวนการคิดในการสร้างระบบไอทีเพื่อตอบสนองความต้องการของคนพิการว่าคุณทำอย่างไร
ปรีดา: เล่าจากจุดที่ได้อโชก้า เฟลโล่ เลยแล้วกัน จากการที่พี่ๆ ที่เป็นอโชก้า
เฟลโล่ สัมภาษณ์ผมไปก่อนหน้านี้ เขาบอกว่าผมเป็นนักคิดเชิงกระบวนการ อันดับแรกเลย
ผมจะดูก่อนว่าจุดที่ผมจะทำอะไรก็ตามมีปัญหาอะไรบ้าง จากนั้นก็ศึกษาบุคคลที่เกี่ยวข้อง
สิ่งที่เกี่ยวข้อง เช่น ประเด็นกฎหมาย แล้วนำทุกอย่างที่เราศึกษามาสังเคราะห์ดูว่า
อะไรจะแก้ปัญหาได้บ้าง แล้วก็ดีไซน์วิธีการขึ้นมา แล้วก็ลงมือทำ
ผมถือว่าเป็นการทดลอง หาข้อสรุป แล้วแก้อีกรอบหนึ่ง แล้วค่อยไปทำอีกรอบหนึ่ง
ถ้ายังแก้ไม่ได้ก็แก้อีกรอบหนึ่ง แก้จนมันโอเค
ยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างงานเทเลเซลล์
โจทย์ทางธุรกิจคือต้องเอาลูกค้าเป็นที่ตั้งว่าต้องการอะไร ในที่นี้คือฮัทชิสัน
หนึ่งคือได้ตามเป้าหมายสามหมื่นแอคเคาท์ สองคือการใช้คนพิการทำงาน
โดยบอกว่าเอาคนพิการมาทำงานที่ออฟฟิศ ผมก็มาคิดต่อว่ามันไม่ได้
เพราะฉะนั้นคนพิการต้องทำงานที่บ้าน ไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง ทำงานได้ตลอดเวลา
จึงเอาซอฟต์แวร์เข้ามาช่วย การอินพุทข้อมูลก็เป็นไปตามที่ผมเสนอ ซึ่งเขาก็พยายามทำ
มันถูกดีไซน์แยกย่อยลงไปถึงระดับการเขียนโปรแกรมเลยว่าต้องเขียนอย่างไรให้คนพิการมีส่วนร่วมมากที่สุด
TCIJ: จากจุดนั้น
คุณก็ขยายงานด้านนี้ต่อมาเรื่อยๆ?
ปรีดา: กฎหมายเขียนไว้ว่าผู้ประกอบการต้องรับคนพิการเข้าทำงานในสัดส่วน
100 ต่อ 1 บริษัทหนึ่งที่ผมทำงานให้ต้องรับคนพิการอย่างน้อย
400 คนต่อปี เขาหาไม่ได้ โจทย์แรกที่ผมได้คือเขาให้โควต้าผม 62
คน เป็นเงิน 6,789,000 บาท
ผมก็ทดลองทำโดยเข้าไปศึกษาและทำตัวนี้เป็นวิทยานิพนธ์
และพบสามส่วนที่มันสอดคล้องกันคือ หนึ่ง-เอกชนถูกกฎหมายบังคับใช้
สอง-ธุรกิจเอกชนยังไงก็ต้องเติบโต 5-10 เปอร์เซ็นต์ทุกปี
ถ้าคุณไม่โต คุณก็ต้องเอาเงินตรงนั้นไปเสียภาษี แล้วธุรกิจเอกชนก็ต้องทำซีเอสอาร์
สาม-ผู้ประกอบการมีเจตคติที่ไม่ดีว่าคนพิการไม่สามารถทำอะไรได้
ถามว่าเป็นเพราะอะไร ก็เพราะคนพิการไม่มีความสามารถ
จากตรงนี้ก็เกิดเป็นกระบวนการว่า
ถ้าเรานำคนพิการที่ไม่มีความสามารถหรือความสามารถไม่ถึงนี่แหละมาเข้ากระบวนการฝึกอบรม
โดยใช้กลไกของกฎหมายที่ว่าถ้าคุณไม่จ้างและไม่อยากจะจ่าย
คุณต้องทำอย่างใดอย่างหนึ่งให้คนพิการมีความรู้เพื่อประกอบอาชีพได้
ผมเริ่มต้นด้วยการย้อนทวนกระบวนการ
โดยปรับทัศนคติของผู้ประกอบการก่อนด้วยการจัดทำเวิร์คช็อปให้ผู้ประกอบการมีความรู้เรื่องคนพิการและปรับทัศนคติ
จากนั้นผู้ประกอบการจะรู้ว่าคนพิการประเภทนั้น ประเภทนี้ ทำงานได้
เกิดตำแหน่งงานใหม่ๆ สำหรับคนพิการมากขึ้น
จากการที่เขามีองค์ความรู้เรื่องข้อจำกัดของคนพิการ
ระหว่างที่ทำเวิร์คช็อปเขาจะได้สองส่วนคือคุณสมบัติและคำนิยามความพิการที่ตรงกับตำแหน่งที่เขาคิดว่าคนพิการสามารถทำได้
แน่นอนว่า คุณสมบัติก็ต้องสูง เช่น จบปริญญาตรี จบ ปวส.
แต่มีคนพิการเยอะที่เรียนไม่จบ
สิ่งที่เราได้อีกประการจากการเวิร์คชอบคือความต้องการ
หมายถึงถ้าคนพิการจะมีความรู้ออกไปทำงานในตำแหน่งนั้นๆ เขาต้องรู้อะไร
เอาความต้องการนั้นมาทำหลักสูตร แล้วก็เอาคนพิการมาเรียนในโครงการ
ระหว่างที่คนพิการมาเรียนในหลักสูตรก็ให้คนพิการกับผู้ประกอบการมีปฏิสัมพันธ์กัน
ในเวลาเดียวกันก็ให้คนพิการได้เรียนรู้การอยู่ร่วมในสังคม มันก็จะเป็นสองทาง
พอคนพิการเรียนจบก็จะได้ฝึกงาน ถ้าผ่านการประเมิน เขาจะถูกผลักดันเข้าสู่การทำงานในระบบ
ส่วนคนที่ไม่ได้ทำงานในระบบก็จะมีความรู้ สามารถนำความรู้ไปทำงานในอาชีพอื่นได้
ระบบก็ย้อนทวนกลับไปขับเคลื่อนต่อ
สุดท้ายก็จบลงที่ว่าถ้ามีคนพิการเข้าไปทำงานในสถานประกอบการมากขึ้น
มันจะเกิดการปรับสภาพแวดล้อมเองโดยนโยบาย ถ้าบริษัทที่ผมว่ามีคนพิการเข้าไปทำงานถึง
400 คน ถึงจะกระจายตามสาขาต่างๆ ก็ตาม
มันจะเกิดการเปลี่ยนสภาพแวดล้อม
ในเชิงสังคม คนพิการมีเงินเดือนก็ต้องเกิดการใช้จ่าย
สิ้นเดือนคนพิการพาครอบครัวไปร้านอาหาร เมื่อเห็นว่าคนพิการเป็นลูกค้า
ก็จะเกิดการปรับสภาพแวดล้อมเอง ไม่เคยมีทางลาดก็ต้องมีทางลาด เพราะกลัวว่าเดี๋ยวลูกค้าจะไม่ประทับใจ
จบตรงที่คนพิการมีตังค์ เท่านั้นเอง มันก็จะเคลื่อนเปลี่ยนทั้งระบบเลย
TCIJ: กฎหมายที่กำหนดให้สถานประกอบต้องรับคนพิการเข้าทำงานในสัดส่วนที่กำหนด
ในเชิงปฏิบัติที่ผ่านมาไม่เป็นจริง เป็นเพราะทั้งสองฝ่ายไม่รู้จักซึ่งกันและกัน
ปรีดา: คนพิการอาจจะไม่ยอมรับกระบวนการหรือไม่มีประสบการณ์
หรือว่าไม่สามารถจะอยู่ในสังคมได้ มีทัศนคติที่จะเป็นฝ่ายรับอย่างเดียว
ส่วนผู้ประกอบการก็มองว่าคนพิการทำอะไรไม่ได้เลย
รวมถึงสภาพแวดล้อมที่ตนเป็นเจ้าของอยู่ก็ไม่ได้ให้คนพิการสามารถทำงานได้
สองฝั่งนี้ เวลาเราแก้ปัญหาต้องแก้พร้อมกัน ถ้าแก้ปัญหาแค่ฝั่งใดฝั่งหนึ่ง ไม่ได้
มันจะไม่เกิดผลสำเร็จ เช่น แก้ที่คนพิการอย่างเดียว
แต่ผู้ประกอบการไม่อยากรับก็ไม่จบ ถ้าแก้ที่ผู้ประกอบการให้ยอมรับ
ปรากฏว่าคนพิการไม่ยอมรับ ทำงานไม่ได้ ก็ไม่ได้อีก ดังนั้น สองฝ่ายต้องทำไปด้วยกัน
ซึ่งเป็นเรื่องที่ยาก แต่ก็ต้องทำ
TCIJ: ความพิการมีหลายประเภทและในแต่ละประเภทก็มีหลายระดับ
เช่น การเคลื่อนไหว ทางสายตา การได้ยิน
หมายความว่าหลักสูตรที่คุณพูดถึงคนพิการสามารถฝึกอบรมร่วมกันได้หมด
ปรีดา: ในงานวิจัย ผมจะโฟกัสคนพิการออกเป็นสองกลุ่ม
คือผมจะให้หลายนิยาม นิยามแรก เป็นพิการแต่กำเนิดหรือพิการภายหลัง
ถ้าเป็นแต่กำเนิดจะมีต้นทุนน้อยกว่าคนพิการภายหลัง
เพราะฉะนั้นการเลือกคนพิการเข้าทำงาน ผมจะเลือกคนพิการภายหลังก่อน
เพราะว่ามีต้นทุนมากกว่า
อีกนิยามหนึ่งที่ผมให้แก่ผู้ประกอบการคือให้แบ่งคนพิการทุกกลุ่มเป็นสองประเภทใหญ่
คือประเภทที่เรียนรู้ได้กับประเภทที่เรียนรู้ได้ไม่ดี ไม่ใช่เรียนรู้ไม่ได้นะครับ
เรียนรู้ได้ แต่ไม่ดี เช่น ผู้พิการทางสมอง ทางสติปัญญา
แต่กลุ่มที่เรียนรู้ได้ดีคือคนพิการทางร่างกาย เพราะสมองไม่ได้เป็นอะไร
กลุ่มนี้สามารถพัฒนาไปได้เร็ว
แต่คนพิการทางร่างกายก็ต้องดูว่าสมองโดนกระทบกระเทือนหรือเปล่า
TCIJ: เมื่อจัดแบ่งออกมาแล้ว...
ปรีดา: ผู้ประกอบการก็จะเห็นว่า 76.8 เปอร์เซ็นต์
เป็นผู้พิการทางด้านร่างกาย ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มคนพิการที่มีเยอะมากที่จะนำเข้าสู่องค์กร
มุมมองของคนที่ไม่พิการจะมองว่า คนพิการติดตรงนั้นตรงนี้
แต่ในความจริง ถ้าได้สัมผัสใกล้ชิดจะรู้ อย่างคนตาบอดให้เรียนเวิร์ด
เรียนเอ็กเซลล์ เล่นโซเชียล เน็ตเวิร์ค เขาทำได้เหมือนคนที่ไม่พิการ
ส่วนคนพิการทางหูเขาทำได้อยู่แล้ว เพียงแต่เขาไม่ได้ยิน
และเนื่องจากความพิการมีหลายระดับ เราจะเลือกคนหูตึงที่ใช้เครื่องช่วยฟังก่อน
ถ้าเป็นคนที่หูหนวก ไม่ได้ยินเลย ก็ต้องมีล่ามภาษามือ ซึ่งตรงนี้จะยาก
เราจะยังไม่อยากรับ
คือการช่วยเหลือคนพิการทั้งระบบ ผมมีทัศนคติแบบนี้
ถ้าเปรียบเทียบคนพิการร้อยคนอยู่ในป่า ผมจะช่วยคนพิการ 5
คนออกมาก่อน คนไหนช่วยได้ ช่วย ดันเข้าระบบก่อน
ช่วยไม่ได้ก็ต้องปล่อยไว้ในป่า แต่โดยสังคมและตัวคนพิการเอง คนพิการ 5 คนที่ผมช่วยรวมทั้งตัวผมจะย้อนกลับมาช่วยคนที่เหลือได้
เราจะไปพาพวกกลับมา ผมเรียกว่าเป็นเอ๊กซ์เม็น
พอสังคมเห็นว่าคนพิการทำงานได้ มีความสามารถ
เมื่อผู้ประกอบการเห็นก็จะย้อนกลับมายอมรับคนอีก 95
คน
คนพิการแต่ละรุ่นที่เราผลักดันออกไป
สิ่งที่เขาจะได้คือมุมมองการอยู่ร่วมกับผู้อื่นและการพัฒนาตนเอง นี่สำคัญที่สุด
และผมกำลังสร้างแถวสอง คนที่อยู่ใกล้ตัวผม ผมจะพัฒนาเขาให้เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง
อย่างน้อยก็ในพื้นที่ตัวเอง ตำบล อำเภอ จังหวัด
TCIJ: ถ้าคนพิการคนนั้นยังข้ามไม่พ้นความพิการของตัวเอง คุณจะทำอย่างไร
ปรีดา: ต้องทำให้เขาข้ามก่อน
ถ้าคนพิการที่ยังข้ามความพิการของตัวเองไม่พ้นจะช่วยยากมาก
ผมถึงบอกว่าเราต้องช่วยคนพิการที่ข้ามพ้นมาได้แล้วก่อน
ผมไม่ได้มีหน้าที่ช่วยคนพิการทั้งประเทศหรือทั้งโลกใบนี้
ผมมีหน้าที่ช่วยคนพิการที่ก้าวข้ามความพิการของตนเองมาก่อน
เพราะว่าผมไม่มีความสามารถหรอกที่จะช่วยคนที่ยังข้ามไม่พ้น
ซึ่งสำหรับคนกลุ่มนี้ก็มีกระบวนการ มีกลุ่มคน มีองค์กร มีหน่วยฟื้นฟูอยู่
ที่ผมจะไม่เข้าไปแตะ เพราะผมคนเดียวไม่สามารถทำได้ทุกเรื่อง ดังนั้น
ผมจะช่วยคนที่ก้าวข้ามความพิการของตัวเองได้แล้วก่อน
ผมจะต้องดึงคนพิการที่ถูกพัฒนามาแล้วในระดับหนึ่งและผมส่งเขาต่อ
เพราะคนที่ทำตรงนี้ไม่มี เราต้องอยู่ในที่ที่คนอื่นเขาไม่ทำ ถ้ามีคนที่ทำอยู่แล้ว
ผมจะไม่ยุ่ง จริงๆ งานตรงนี้ผมก็ไม่อยากยุ่งนะ แต่ผมทนดูมาหกปีแล้ว มันไม่มีคนทำ
ผมเลยโดดมาทำ พอโดดมาทำสองปี อโชก้าก็เห็น เพราะมันไม่มีใครทำมาก่อน
ปรีดา: การทำกิจการเพื่อสังคมในมุมมองผมมีสองลักษณะ
ลักษณะที่หนึ่งคือคุณทำแล้วมีกำไร เหมือนธุรกิจ แล้วคุณบอกว่าเอากำไรไปทำอะไร
แต่งานผม โดยเนื้องานมันช่วยเหลือสังคมอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นมันคือธุรกิจเลย
แต่เอากำไรน้อย ผมเอาแค่พอดีๆ ที่ตัวเองอยู่ได้ เช่น โปรเจ็กต์นี้มโหฬารเลย 10
ล้าน แต่ผมคิดแล้วต้นทุนที่ผมใช้ทั้งทีมงานเลย 5 แสน ผมจะกันเงินแค่ 5 แสนนั้นไว้ให้ตัวเอง
ส่วนที่เหลือจัดให้คนพิการทั้งหมด นี่คือมุมมองผมในแง่กิจการเพื่อสังคม
เมื่อเป็นแบบนี้เวลาปิดงบดุลก็จะกลายเป็นศูนย์บาท
ซึ่งตรงนี้มีปัญหากับกรมสรรพากรมาก กรณีที่ผมเปิดเป็นบริษัทจำกัด
แล้วผมทำเรื่องนี้มาก่อนที่จะมีสำนักงานกิจการเพื่อสังคม
กรมสรรพากรก็ถามว่าทำไมปิดงบดุลเป็นศูนย์ ทำไมไม่มีกำไร เป็นไปได้ยังไง
คุณเป็นบริษัทที่หากำไร คุณเปิดบริษัทจำกัดก็ต้องมีกำไรสิ ก็ไม่มีนี่ครับ
ผมทำแบบนี้
จริงๆ ผมทำไม่ถูกนะ
เขาว่ากันว่าธุรกิจต้องอยู่ได้ด้วยตัวมันเอง แต่มุมผมคือผมทำงานบนกองทุน
ผมดักเงินของเอกชนมาอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นผมไม่จำเป็นต้องมีทุนเอง
เราจึงไม่ต้องทำกำไรเอาไว้เพื่อหาต้นทุนสำหรับตัวเอง
เพราะถึงเวลาเขาก็ให้ทุนเราโดยอัตโนมัติ
ผมจะอธิบายให้เห็นศักยภาพของธุรกิจตรงนี้
เอาเฉพาะฝั่งเอกชนที่ต้องจ้างคนพิการปีหนึ่งตามสัดส่วนร้อยต่อหนึ่งนะเท่ากับ 53,000
คน คนละ 109,500 บาท
แสดงว่ามีเม็ดเงินในวงการนี้ 5 พันกว่าล้าน
และมีการสมทบเงินตามกฎหมายอีก 3 พันกว่าล้าน
คือมีคนพิการประมาณ 33,000 คนที่ไม่ได้ถูกจ้าง
แสดงว่าตรงนี้คือความต้องการใช่หรือเปล่า เราไปทำบนความต้องการ 3 พันกว่าล้านนี้ บริษัทแห่งหนึ่งให้เราพัฒนาคนพิการ 200 คนก็คือ 20 ล้าน จาก 3,000 ล้าน
มันใหญ่มากเลย แล้วเราทำคนเดียวก็ไม่พอ มันดีมานด์อยู่แล้ว แต่ซัพพลายมันไม่พอ
TCIJ: คุณเองคิดจะขยายการทำงานออกไปหรือเปล่าเพื่อรองรับความต้องการ
ปรีดา: ไม่ๆ สิ่งที่ผมต้องทำคือผมต้องสร้างแถวสอง สร้างคนอื่นที่จะมาทำแทนผม
ซึ่งดีที่สุดก็คือมหาวิทยาลัย ผมมีความคิดเรื่องความยั่งยืน มหาวิทยาลัยมีอาคาร
มีบุคลากรที่มีความสามารถ มีระบบอยู่แล้ว มีทุกอย่าง เราแค่ขายไอเดียให้เขา
แล้วเขาซื้อ มหาวิทยาลัยจะเป็นที่ที่พัฒนาศักยภาพคนพิการได้ดีที่สุด
และเมื่อคนพิการไปเรียน นักศึกษา อาจารย์ก็จะเห็น เกิดการรับรู้ของสังคม
ที่ที่ดีที่สุดที่จะปลูกฝังว่ามีคนพิการอยู่ในสังคมก็คือสถาบันอุดมศึกษา
เริ่มจากตรงนี้แล้วมันได้ทุกเม็ดเลย
แล้วเมื่อไหร่ที่นักศึกษาเหล่านี้กลายเป็นคนที่มีอำนาจหน้าที่ เป็นผู้จัดการ
เป็นผู้บริหาร หรือเป็นเจ้าของกิจการ เวลาเขาทำอะไร เขาจะคำนึงถึงคนพิการ
ตอนนี้เราได้สามที่แล้ว ลาดกระบัง บางมด และกรุงเทพ แล้วยังมีอีกหลายๆ
มหาวิทยาลัยตามเข้ามา วิธีคิดนี้ถูกคิดอยู่บนพื้นฐานที่เรียกว่าบูรณาการ
คือคิดครั้งเดียวแล้วให้มันกระจายออกไปเลย นี่คือวิธีคิดของผมทุกเรื่องเวลาทำงาน
TCIJ: นโยบายเกี่ยวกับคนพิการก็มีทุกรัฐบาล
แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่เป็นจริง มุมมองของคุณคิดว่ามันติดขัดตรงไหน
ปรีดา: ถ้าเราเอาวงมาเขียนว่านี่คือกระทรวงที่หนึ่ง
กระทรวงที่เกี่ยวข้องคือกระทรวงแรงงานฯ กระทรวงพัฒนาสังคมฯ และกระทรวงศึกษาฯ
ผมเชื่อว่าราชการทั่วโลก โดยเฉพาะราชการบ้านเราผมเชื่อว่าเป็นแบบนี้
คือวงจะถูกเอามาต่อกัน แต่มันจะไม่เคยเอามาซ้อนกัน
เพราะว่าแต่ละองค์กรจะมีนโยบายและกรอบในการทำงานของเขา
เมื่อไหร่ที่มันซ้อนกันก็จะเกิดความขัดแย้งของหน่วยงานภาครัฐ
ตรงนี้แหละคือพื้นที่ว่างที่ต้องมีคนลงไปทำ และผมดูมาหกปีแล้ว ไม่มีใครทำ
เราเลยไปอุดช่องว่างนั้น
ผมเคยพูดนะว่า
น่าจะมีกระทรวงบูรณาการและมีหน้าที่อุดช่องว่างต่างๆ ของหน่วยงานภาครัฐ
เพราะหน่วยงานรัฐถือทั้งกำลังคน เงิน และอำนาจในมือ เพียงแต่ขาดคนเชื่อมโยงเท่านั้นเอง
สิ่งที่ผมหวังมากที่สุดคือผมแค่มาทำให้ดูเป็นตัวอย่าง แล้วจะเกิดคนตรงกลาง
ซึ่งก็คือธุรกิจเพื่อสังคมหรือผู้ประกอบการทางสังคมมาเป็นคนอุดช่องว่างนี้
ผมคนเดียวทำไม่ได้ เพราะช่องว่างนี้มันมีกระจายทุกพื้นที่เลย
TCIJ: ถึงตอนนี้เริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงในเชิงทัศนคติของผู้ประกอบการแล้วหรือยัง
ปรีดา: เห็นชัดเจนมาก เวิร์คช็อปวันเดียวตำแหน่งงานเพิ่มขึ้นเลย 3-4 เท่าในแต่ละองค์กร ข้อสองคือตอนนี้ที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
วันที่ผมทำปีแรกมีหลักสูตรไม่เยอะ แต่วันนี้มีประมาณ 200 กว่าหลักสูตรที่เอกชนเข้าไปมีส่วนร่วมและพัฒนาหลักสูตรขึ้นมา
โดยที่ผมไม่รู้เรื่องเลย แต่มันเกิดจากการที่เราทำซอฟต์ไฟล์แจกจ่ายออกไป
แล้วผู้ประกอบการก็นำสิ่งนี้ไปเขียนโครงการ เพราะเราอบรมให้มากกว่า 500 คน 200 องค์กรที่เข้ามาเวิร์คช็อปกับเรา
แล้วเขาก็เกิดไอเดียไปทำของเขาเอง นี่คือสิ่งที่ผมต้องการ แล้วมันก็เกิดขึ้นแล้ว
TCIJ: สมมิตถ้าคุณจำเป็นต้องพูดเพื่อกระตุ้นให้คนพิการก้าวข้ามความพิการของตนเอง
คุณจะพูดอะไร
ปรีดา: ผมเชื่อว่าคนที่จะเป็นอโชก้า เฟลโล่
คือคนที่สร้างนวัตกรรม แน่นอนว่าการสร้างนวัตกรรมจะเกิดการต่อต้าน
ผมเรียกว่าแรงเสียดทาน และมันมีเยอะมาก เวลาที่ผมไปจับเรื่องไหนก็ตาม
อย่าลืมว่ามีคนที่ทำเดิมอยู่แล้ว ตอนนี้ในวงการคนพิการ
ผมถูกเรียกว่าเป็นคนฉกฉวยโอกาส
เพราะเราเห็นช่องและใช้เวลาเพียงไม่กี่ปีทำจนมันสัมฤทธิ์ผลและมีพื้นที่ให้เรายืนอยู่
เรานำประสบการณ์ การเรียนรู้ การศึกษาปัญหาของเรา แล้วก็มองโอกาส เหมือนนักธุรกิจ
แล้วเราก็เสียบเข้าไปตรงนั้นเลย โดยข้ามคนที่ทำมาเป็นสิบๆ
ปีที่ทำมาแล้วไม่สัมฤทธิ์ผล
มีการอบรมคนพิการจบไปแล้วไม่รู้กี่รุ่น
แต่ทำไมคนเหล่านั้นก็ยังไม่มีงานทำ แต่เราเอาคนพิการที่จบมาแล้วจากสถานพักฟื้น
สถานพัฒนาตนเองมาต่อยอดอีกที ให้ความรู้เขาเพิ่มอีกนิดหนึ่ง เหมือนเราแนะเขา
เขามีต้นทุนอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่รู้จะต่อยังไง พอเราแนะเขา แล้วเขาไปได้
ผมก็กลายเป็นนักฉวยโอกาสไป
แล้วถ้าผมกระโดดลงไปอีกสเต็ปหนึ่ง
คือสเต็ปที่ทำให้คนพิการก้าวข้าม ซึ่งมันมีฐานของคนที่ทำอยู่เยอะมาก
นอกจากงานของผมจะเยอะมากแล้ว ผมก็จะกลายเป็นนักฉวยโอกาสอีก แค่นี้ก็เยอะอยู่แล้ว
เราจึงไม่อยากลงไปในทุกระดับ เหมือนสมัยก่อนผมทำบริษัท
เราต้องรู้ก่อนว่าเราจะอยู่ตรงไหน ถ้าเราขยับนิดเดียว เราจะมีคู่แข่งเยอะเลย
แต่ถ้าเราไม่ขยับ อยู่แค่ตรงนี้ จะมีแต่คนหนุนเรา
เพราะฉะนั้นแค่ตรงนี้ที่ผมทำอยู่ก็เรียกว่ามีคนที่คิดในแง่ลบกับเราเยอะแล้ว
ถ้าเราลงไปอีกสเต็ปหนึ่ง เราไม่อยากจะไปตรงนั้น
TCIJ: คุณวางแผนในอนาคตไว้อย่างไร
ปรีดา: ผมมีความเชื่อเรื่องมรณานุสติ ตอนนี้ผมอายุ 42
ผมคิดว่า 48 ผมจะหมดอายุขัยด้วยเหตุผลบางอย่าง
มีเวลาอีกแค่ 6 ปี
ข้อที่หนึ่งที่ผมทำเนื้อหาในบล็อกก็เพราะผมต้องการให้เกิดการบันทึก การสร้างข้อมูล
ที่ทุกคนจะสามารถย้อนหลังเรียนรู้ได้
ข้อที่สองคือผมต้องการสร้างคนที่ทำเหมือนผมได้
ข้อที่สามคือผมอยากให้วันที่จัดงานศพของผม มีคนไปเยอะๆ
เพราะผมดีไซน์งานศพตัวเองเอาไว้
แล้วอยากจะให้ในงานนั้นเกิดการบูรณาการครั้งสุดท้าย คืออะไรต้องคอยติดตามดู
ในด้านธุรกิจ ผมก็ยังมีธงอยู่ มันเป็นการต่อสู้กับตัวเอง
ต่อสู้กับการยอมรับในครอบครัวและคนบางคนที่กระทำต่อเรา ผู้มีอันจะกินทั้งหลาย
นักธุรกิจที่ขึ้นชื่อว่าอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แล้วรังแกเราเพราะเห็นว่าเราเป็นคนพิการ
คงทำอะไรเขาไม่ได้ แต่คนเหล่านั้นคือแรงบันดาลใจให้เราที่จะต่อสู้ แล้วขึ้นมายืน
เพื่อจะบอกว่าผมก็ทำได้ แม้ว่าจะเป็นคนพิการ
ให้เขาเห็นว่าการสร้างธุรกิจจนมีเงินมากๆ ทำยังไง คนพิการก็ทำได้เหมือนกัน
แล้วที่คุณกลั่นแกล้งจนผมไม่มีที่ยืนเลยในอดีต วันนี้ผมกลับมายืนให้คุณดูและทำได้
แต่เงินตรงนั้นทั้งหมดในอนาคตจะกลับเข้าไปในกิจการเพื่อสังคม
ลิงก์อ้างอิง: http://tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=4946
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น